สงครามห่วงยาง กีฬาลึกลับแห่งวันเวลาที่เด็กผู้ชายยังเล่นโดดยาง

ผมคิดมาตลอดว่าผมเกลียดกีฬาทุกชนิด แต่ความทรงจำในวัยเด็กที่จู่โจมอย่างไม่ทันตั้งตัวบอกผมว่านั่นไม่เป็นความจริง จริง ๆ แล้วมีกีฬาที่ผมไม่ใช่แค่ไม่เกลียด แต่ยังชอบมาก ชอบจนมีอุปกรณ์กีฬาเป็นของตัวเอง ชอบจนครั้งหนึ่งต้องสอนกติกาของกีฬานี้ให้กับเพื่อนในหมู่บ้านที่เรียนกันคนละโรงเรียนและไม่เคยเล่นมาก่อน กีฬาที่ว่ามีชื่อว่า ‘ปาห่วงยาง’ (หรือไม่ก็ ‘โยนห่วงยาง’ ผมไม่แน่ใจ)

ก่อนจะไปถึงเหตุผลว่าทำไมผมถึงชอบการเล่นกีฬาชนิดนี้ ผมขอเล่ากติกาและอุปกรณ์ที่ใช้ให้ฟังก่อน

อุปกรณ์: ห่วงยางอันเล็ก ๆ แบบที่เอาไว้ใช้เล่นเกมโยนห่วง
สถานที่: ที่โล่ง ถ้าที่พื้นมีเส้นแบ่งเขตที่ทำให้กำหนดพื้นที่ได้ก็จะดีมาก
กติกา:
1. กีฬาชนิดนี้เล่นเป็นทีม แบ่งเป็นสองทีม ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น ขอแค่แต่ละฝั่งมีจำนวนผู้เล่นเท่ากันก็พอ
2. กำหนดว่าฝั่งไหนจะเป็นฝั่งหนีหรือเป็นฝั่งปาห่วง ซึ่งฝั่งหนีเป็นฝั่งที่ได้รับความนิยมมากกว่า
3. ฝั่งหนีจะคอยวิ่งอยู่ตรงกลาง ไหนขณะที่ฝั่งปาห่วงจะยืนขนาบทั้งสองข้าง
4. ถ้าฝั่งหนีโดนปาห่วงใส่ ไม่ว่าที่ส่วนใดของร่างกาย คนที่โดนต้องออกจากสนาม หากผู้เล่นฝั่งหนีโดนออกจากสนามหมดก็ถือว่าจบเกม ฝั่งปาห่วงได้สลับมาเล่นเป็นฝั่งหนี
5. พื้นที่ตรงกลางที่ใช้วิ่งหนีจะหดแคบลงเรื่อย ๆ ตามจำนวนผู้เล่นฝั่งหนีที่เหลือในสนาม แล้วแต่ตกลงกันว่าจะขยับตอนไหน (การมีพื้นที่มีเส้นแบ่ง หรือมีกระเบื้องที่ทำให้กำหนดความกว้างของพื้นที่ได้อย่างแม่นยำจึงมีประโยชน์มาก)
6. ถ้าฝั่งหนีสามารถรับห่วงที่ปาใส่ตัวเองได้ จะสามารถตะโกนว่า “หยุด” หลังเสียงตะโกนฝั่งปาห่วงจะต้องหยุดอยู่กับที่ จากนั้นคนที่รับห่วงได้จะสามารถเลือกช่วยเพื่อนที่ออกจากสนามไปแล้วได้ โดยเลือกเพื่อนที่จะช่วย จากนั้นเลือกฝั่งปาห่วงที่จะปาห่วงใส่ ถ้าปาห่วงใส่แล้วคนนั้นรับไม่ได้ก็จะสามารถช่วยเพื่อนกลับเข้ามาในสนามได้สำเร็จ (เนื่องจากสนามจะหดแคบลงตามจำนวนฝั่งหนี การช่วยเพื่อนแบบนี้มักจะเกิดขึ้นในเวลาที่ผู้เล่นเหลือน้อยแล้ว เพราะหากสนามกว้าง การจะปาห่วงใส่ฝั่งปาห่วงที่อยู่ไกลออกไปจะเป็นเรื่องยาก)

ด้วยอุปกรณ์ที่มีไม่มาก ไม่จำเป็นต้องใช้สนามเฉพาะ และจำนวนผู้เล่นที่ยืดหยุ่น ทำให้กีฬาชนิดนี้สามารถเล่นได้ทุกที่ ทุกเวลา และยังแตกแขนงไปในรูปแบบอื่นที่กติกาคล้ายกัน อย่างการใช้ลูกปิงปอง (ต้องใช้ทักษะมากกว่า และยิ่งปาแรงยิ่งเจ็บ ในขณะที่ห่วงยางไม่เจ็บขนาดนั้น) หรือการใช้รองเท้า (เปลี่ยนมานั่งเล่นกับพื้นอาคาร แล้วใช้การสไลด์รองเท้าไปตามพื้นแทน ไม่มีกติกาช่วยเพื่อน) ผมไม่แน่ใจว่าการใช้รองเท้า ลูกปิงปอง หรือห่วงยาง อะไรเกิดก่อน อะไรไปยืมไอเดียมาจากอะไร หรือแม้กระทั่งว่าทั้งหมดนี้คือการดัดแปลงกีฬาอย่างดอดจ์บอลหรือเปล่า แต่ที่แน่ ๆ มันเป็นกีฬาที่สนุกมาก ทำให้รู้สึกว่ากำลัง ‘เล่น’ มากกว่ากำลัง ‘แข่งขัน’

ผมเป็นคนไม่ค่อยแอกทีฟเท่าไหร่ เวลาเล่นกีฬาผมมักจะยืนเฉย ๆ ทำให้เพื่อนไม่ค่อยส่งบอลให้ และในเวลาที่เพื่อนเผลอส่งบอลให้ก็พิสูจน์ตัวเองอย่างรวดเร็วว่าไม่คู่ควรกับบอลที่ส่งให้เลย ด้วยเหตุนี้เวลาเล่นกีฬาทีมผมมักจะเป็นตัวสำรอง หรือเป็นคนท้าย ๆ ที่เพื่อนจะเลือกเข้าทีมเสมอ แต่กับเกมปาห่วงสิ่งที่ทำแค่ต้องวิ่งหนีหรือไม่ก็ปาห่วงใส่ฝั่งตรงข้าม การทำพลาดไม่ได้มีผลต่อคะแนน ไม่ได้มีผลต่อชัยชนะของทีม และหลายครั้งจำนวนผู้เล่นก็ค่อนข้างยืดหยุ่น ไม่จำเป็นต้องเท่ากันเสมอไป ถ้าหารไม่ลงตัวการมีคนที่เล่นกีฬาไม่เก่งเพิ่มเข้ามาอีกคนก็ไม่ได้ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีปัญหา

ช่วงต้นเกมจะเป็นช่วงชลมุน เนื่องจากฝั่งหนีมีเยอะ การจะปาห่วงให้โดนใครสักคนไม่ใช่เรื่องยาก เป็นช่วงที่ฝีมือทางด้านกีฬาสามารถถูกลบล้างด้วยดวงได้ง่าย ๆ ซึ่งแน่นอนว่าเข้าทางผมเป็นอย่างดี

ช่วงท้ายเกมจะเป็นช่วงที่ยากเป็นพิเศษ ฝั่งปาห่วงจะเริ่มสรรหาเทคนิคต่าง ๆ มาเพื่อกำจัดผู้เล่นที่เหลืออยู่ ที่แม้พื้นที่จะแคบลง แต่ก็ปาให้โดนได้ยากขึ้น เพราะวิ่งได้อย่างอิสระ เทคนิคที่ว่ามีตั้งแต่การหลอก หรือการรับส่งห่วงอย่างรวดเร็ว การเพิ่มความแรง บางคนก็คิดท่าไม้ตายต่าง ๆ ให้ตัวเอง แต่ถึงแม้ว่าเกมจะยากขึ้น แต่ความกดดันกลับไม่ได้มากขึ้น คนที่เล่นกีฬาไม่เก่งอย่างผมกลับสนุกกับช่วงนี้มากขึ้นไปอีก บางครั้งผมเหลือเป็นคนสุดท้าย ซึ่งแน่นอนว่าเพื่อนไม่ได้คาดหวังอะไร เตรียมตัวสลับไปเป็นฝั่งปาห่วงกันเรียบร้อย แต่ช่วงนี้แหละที่บางทีผมก็บังเอิญรับห่วงได้ และถ้าผมบังเอิญช่วยเพื่อนเก่ง ๆ กลับมาได้สำเร็จ เพื่อนเก่ง ๆ นี่ก็แทบจะช่วยเพื่อนกลับมาได้ยกทีม

เกมปาห่วงยางเป็นเกมที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เป็นฮีโร่ ต่างกับกีฬาอื่น ๆ ที่ฮีโร่ไม่ได้เกิดในสนาม แต่ถูกกำหนดตั้งแต่นอกสนามอยู่แล้ว การที่คนขี้แพ้ในทีมตกอยู่ในสถานการณ์ชี้เป็นชี้ตายกับกีฬาส่วนใหญ่แล้วนี่คือสถานการณ์แห่งความน่าผิดหวัง แต่กับกีฬาปาห่วงยางนี่คือสถานการณ์แห่งความหวัง

ผมคิดว่าคงมีโอกาสน้อยเต็มทีที่จะได้กลับไปเล่นปาห่วงยางกับเพื่อนจำนวนมากอีก โลกเรามาถึงจุดที่เราไม่ต้องทำลายความน่าเบื่อด้วยกีฬาปลอม ๆ แบบนี้อีก ไม่จำเป็นต้องเผลอตัวไปเล่นโดดยางหรือหมากเก็บ ไม่จำเป็นต้องหาอะไรทำ มีอะไรให้ทำเสมอ แต่ถ้าเป็นไปได้ก็อยากลองเป็นฮีโร่ในสนามอีกสักครั้ง

ไม่รู้ว่าจะได้เล่นปาห่วงยางอีกเมื่อไหร่ แต่ยังไงผมก็คงต้องขอบคุณใครก็ตามที่คิดการเล่นปาห่วงยางขึ้นมา ในตอนนั้นนอกจากการทำข้อสอบให้ได้คะแนนสูงกว่าคนอื่นแล้วผมก็แทบไม่รู้สึกว่าผมมีดีอะไรเลย อันที่จริงการทำข้อสอบให้ได้คะแนนดีก็แทบไม่ต้องใช้ความพยายามอะไร และผมก็ไม่ได้มีทางเลือกมากมาย การได้คะแนนน้อยมาพร้อมกับคำตำหนิ ความโกรธเกรี้ยว และอิสรภาพที่ลดลง การเล่นปาห่วงยางเป็นสิ่งที่ผมเลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำ และเวลาที่ทำได้ดีก็ทำให้รู้สึกดีจริง ๆ